ไทยก้าวสู่ "ผู้นำการแพทย์สมัยใหม่"
ประเทศไทยกำลังเร่งเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง โดยตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการแพทย์สมัยใหม่ในระดับโลกภายในปี 2570 โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMPs ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ยีนบำบัด เซลล์บำบัด และการวิศวกรรมเนื้อเยื่อ
จากแผนงานดังกล่าว จึงได้มีการจัดประชุมเชิงวิชาการ ในหัวข้อ "การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพ" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อผลักดันไทยเป็น "ศูนย์กลางการแพทย์สมัยใหม่"
นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยในการประชุมว่า ตลาดผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่ากว่า 11.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 35.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2574 โดยประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทย
สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญสู่การเป็น Medical Hub โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทยในช่วงปี 2568-77 มุ่งเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์และปรับปรุงกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร โดยเตรียมความพร้อมด้านระบบนิเวศและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในสาขาการแพทย์ล้ำสมัย และส่งเสริมธุรกิจสุขภาพและ Medical Tourism เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและพัฒนาบริการที่มีมูลค่าสูง
ทั้งนี้ ประเทศไทยคือผู้นำด้าน ATMPs ซึ่งปัจจุบัน ATMPs ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการแพทย์ที่มีศักยภาพสูง โดยมุ่งเน้นการรักษาโรคที่ซับซ้อน เช่น โรคมะเร็งและโรคทางพันธุกรรม ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มต้นวิจัยและทดลองทางคลินิกในกลุ่มโรคเหล่านี้กว่า 2,000 ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านการจัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเฉพาะด้าน จะช่วยผลักดันมาตรฐานการผลิตและความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ ATMPs ของไทย พร้อมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ
ส่วนการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ "ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย" ในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่า เทคโนโลยีด้านการแพทย์ในปัจจุบันระดับโลกได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการนำเซลล์ เนื้อเยื่อ และยีนของมนุษย์มาดัดแปลงมาใช้ในการรักษาโรคของมนุษย์ การรักษาโรคทางการแพทย์จึงก้าวกระโดดข้ามอุปสรรคกีดขวางที่มีอยู่ ทำให้สามารถรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีแบบเดิม โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และ อย. สหรัฐฯ (USFDA) เรียกหมวดการผลิตภัณฑ์แบบใหม่นี้ว่า Cell, Tissue and Gene Therapy Products และ อย. ยุโรป (EMA) เรียกว่า Advanced Therapy Medicinal Products (ATMPs)
***ชาวโลกยอมรับมาตรฐานแพทย์ไทย
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการบริการการรักษาทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานจากทั่วโลก จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านการแพทย์แบบใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยีชนิดนี้เป็นหมวดผลิตภัณฑ์การรักษาทางการแพทย์หมวดใหม่ของโลก ในระบบสากลได้มีการพัฒนาระบบควบคุมกำกับสำหรับหมวดนี้ ซึ่งหน่วยงานควบคุมกำกับของไทยได้เริ่มการพัฒนาระบบควบคุมกำกับสำหรับผลิตภัณฑ์การรักษาทางการแพทย์ไปบางส่วนแล้ว
"ในโรงเรียนแพทย์ได้เริ่มมีการพัฒนาการผลิตและการวิจัยในมนุษย์ด้วยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ไปบ้างแล้ว โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการรับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่ทันสมัย กระตุ้นให้ภาคเอกชนและภาครัฐประสานความร่วมมือ เช่น ทิศทางของตลาดโลก นโยบายของรัฐบาลไทย นโยบายของกระทรวงต่างๆ ระบบทุนทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีกลุ่มนี้ ระบบควบคุมกำกับสากล สถานการณ์ความต้องการเทคโนโลยีชนิดนี้ในสถานพยาบาลเอกชน ความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรม เพื่อจะได้นำข้อมูลต่างๆ ไปพัฒนาประเทศด้านการออกแบบระบบควบคุมกำกับสอดคล้องสากลและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย การวิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ การยกระดับขัดความสามารถอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์มูลค่าสูงที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับการนำไปใช้บริการการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ของไทยต่อไป"
*** ประกาศให้ ATMPs เป็นยา
ขณะที่ รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (EC-ATMPs) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้บรรยายหัวข้อ "Current Thailand ATMP Situation: Industry and Regulation" โดยระบุว่า มาตรา 7 แพทยสภามีวัตถุประสงค์คือ ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยมาตรา 7 (2) ส่งเสริมการวิจัย ไม่ใช่ควบคุมกำกับการวิจัย และมาตรา 8 (1) - (6) ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของแพทยสภา ไม่มีข้อใดเกี่ยวข้องกับการควบคุมกำกับกระบวนการวิจัย ซึ่งการกำหนดนิยามวัตถุ (คือเซลล์) ที่ใช้กับมนุษย์ในทางการแพทย์การใช้เซลล์สำหรับมนุษย์ในทางการแพทย์ มีดังนี้
สำหรับเซลล์ที่ใช้กับมนุษย์ในทางการแพทย์ อาทิ วินิจฉัยโรค เช่น Lab on a Chip เป็นเครื่องมือแพทย์แบบ IVD ใช้รักษาโรคของมนุษย์แบบไม่ใช่ยา เป็นเวชปฏิบัติทางการแพทย์ ใช้รักษาโรคของมนุษย์แบบเป็นยา และใช้บำบัด บำรุง บรรเทา ทางสุขภาพ แบบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการผลิตยาในโรงพยาบาล ออกมาเป็นราชกิจจานุเบกษา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ประกาศให้ ATMPs เป็นยา
*** แพทยสภา ส่งเสริมงานวิจัย
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาพร้อมส่งเสริม ATMPs และงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์เต็มที่ ไม่ได้ขัดขวางการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์แต่อย่างใด เพื่อให้วงการแพทย์มีการพัฒนาและก้าวหน้าต่อไป
ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มแพทย์ชื่อกลุ่มเพื่อแพทย์ลงสมัครกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องก้าวหน้าทางการแพทย์ เช่น สเต็มเซลล์ ที่ทั่วโลกมีผลวิจัยว่าใช้ได้จริงในโรคที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและให้คำปรึกษา ดังนั้น ประเทศไทยต้องยึดความเป็นอินเตอร์เนชันแนลในการกำหนดกฎหมายให้ออกมาเป็นมาตรฐานสากล
** ววน.พร้อมให้การสนับสนุน
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และรักษาการผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พูดถึงเรื่องการมีส่วนช่วยในการผลักดัน การักษาโดยใช้เซลล์บำบัด หรือ Cell Therapy โดยระบุว่า ทาง ววน. ตระหนักถึงศักยภาพของการให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง เช่น ATMPs ซึ่งมีโอกาสอย่างมากที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญสูงสุดนั่นก็คือ ความปลอดภัยที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการรักษาที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต ไปจนกระทั่งถึงการใช้งานจริง โดยทาง ววน. เข้าใจดีว่า กระบวนการตรวจสอบ ศึกษาทดลอง และวิจัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดนั้น จำเป็นจะต้องใช้งบประมานค่อนข้างสูง
สำหรับภาคเอกชน ววน. จะได้มีการกำหนดแผนที่จะเข้ามาสนับสนุนในด้านงบประมาณในส่วนนี้ เพื่อให้ภาคเอกชนและภาควิชาการมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อจะนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย และการที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยที่ยั้งยื่น และสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยผู้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องภายใต้กฎหมาย ซึ่งทาง ววน.เองก็พร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน การดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะในขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว โดยนวัตกรรม ATMPs เองนั้น จะเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องนี้ แม้จะมีข้อสังเกตุตรงที่ว่า ในปัจจุบันยังมีค่าใช่จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง แต่ถ้าหากประเทศไทนมีความสามารถทำได้เอง และได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยในต่างประเทศ ก็จะทำให้สามารถดึงเม็ดเงินตรงนี้จากต่างประเทศได้ ด้วยความที่การแพทย์ในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะรองรับในส่วน Medical Tourism ซึ่งอาจจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้มีการพัฒนาในวงกว้างมากขึ้น
** Stem cell มีศักยภาพในการตอบโจทย์
ขณะที่นายแพทย์วีรพล เขมะรังสรรค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE หนึ่งในแพทย์ที่ได้ร่วมขึ้นเวทีการประชุมครั้งนี้ ได้พูดถึงเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงกับอนาคตการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ท่ามกลางแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของสังคมสูงวัยทั่วโลกด้วย โดยกล่าวว่า ประเทศไทยเองมีความพร้อมอย่างมากในทุกๆ ด้าน โดยการบริการและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทยนั้น ได้รับการตอบรับจากต่างประเทศอย่างมาก จากเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงในด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือเซลล์บำบัด โดยเฉพาะ Stem cell จะมีความน่าสนใจมากขึ้นในอนาคต เพราะมนุษย์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่ยังคงจะมีความต้องการในการรักษาความเสื่อมตามธรรมชาติ ซึ่ง Stem cell มีความศักยภาพในการตอบโจทย์เรื่องนี้ โดยเชื่อว่า ประเทศไทยจะมีการเติบโตและพัฒนาในด้านนี้อย่างแน่นอน แต่จะช้าหรือเร็นก็จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องบอกว่า ในปัจจุบันมีสัญญานตอบรับในเชิงบวกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้เกิดความมั่นคงที่ยั่งยืน จะต้องแน่ใจว่ามีความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยเบื้องต้นที่สำคัญคงหนีไม่พ้นห้องแลปที่การผลิตต้องได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และได้ผ่านการตรวจสอบจากสถาบันต่างๆ ที่ให้การกำกับดูแลอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันทาง อย. และกรมวิทย์ยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการร่างแผนกำหนดมาตรฐานห้องแลปปฏิบัติการใว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดการว่าจะเสร็จสิ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา ด้วยการแพทย์ชั้นสูง หรือStem cell ได้อย่างแน่นอน
*************************************