MASTER ยันขายบิ๊กล็อตไม่กระทบแผนธุรกิจ
MASTER ย้ำพื้นฐานไม่เปลี่ยน แจงผู้บริหารขายบิ๊กล็อตให้กองทุนต่างประเทศ 4 ราย เพื่อร่วมลงทุนระยะยาว ระบุเพื่อเพิ่ม free float หลังหุ้น MASTER ย้ายจากตลาดหลักทรัพย์ mai เข้ามาเข้าซื้อขายใน SET ยันไม่กระทบแผนการดำเนินธุรกิจ การันตีผลงานงวดไตรมาส 4/67 เติบโตแข็งแกร่ง รับอานิสงส์ช่วงไฮซีซั่น สัดส่วนลูกค้าต่างชาติใช้บริการพุ่ง โดยเฉพาะตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมก้าวขึ้นเป็น Regional Company
จากกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนักจนไปติดฟลอร์ที่ 28.25 บาทต่อหุ้น เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวลือด้านลบและการทำรายการบิ๊กล็อต 11,366,900 หุ้น ที่ราคา 37.00 บาทต่อหุ้น มูลค่า 420.57 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาในกระดานขณะนั้น ทำให้คาดการณ์กันว่าอาจถูก Force Sell จึงเกิดแรงขายอย่าง Panic ตามมาทันที
น.ส.ลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า รายการขายหุ้นบิ๊กล็อตเป็นการทำรายการของผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 คือ IN GLORY INVESTMENTS LIMITED ซึ่งมีนายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล (หมอเสธ.) ถือหุ้นทั้ง 100% โดยขายให้กับกองทุนต่างประเทศจากยุโรปและสหรัฐฯ จำนวน 4 ราย เพื่อร่วมลงทุนในระยะยาว ภายใต้เงื่อนไขห้ามขายออกระหว่าง 6-12 เดือนจากนี้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการถือหุ้นของนักลงทุนสถาบัน และเพิ่ม free float ให้แก่หุ้นของบริษัท ไม่ใช่เพราะหุ้นถูก Force Sell
ทั้งนี้ นายแพทย์ระวีวัฒน์ ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 มีเป้าหมายจะขายหุ้นให้กับกองทุนไม่เกิน 5% เท่านั้น รายการที่เกิดขึ้นถือว่าไม่เกินกว่าเป้าหมาย และจะไม่มีการทำรายการเพิ่มเติมอีก ซึ่งขณะนี้นายแพทย์ระวีวัฒน์ ยังถือหุ้นทั้งในนามส่วนตัวและผ่าน In Glory ราว 60% โดยไม่มีแผนที่จะขายหุ้นออกมาอีก
"ที่เลือกขาย Big Lot กับกองทุนบางเจ้า เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีความสนใจมายาวนาน เข้าร่วมฟังข้อมูลของบริษัททุกรอบ มีการทำในส่วนของ Company visit และมีการขอข้อมูลบริษัท เพื่อนำเข้าแผนตรวจสอบภายใน Audit Universe เป็นกองทุนที่จะมีการถือระยะยาว จึงมีการตัดสินใจตรงนี้ แต่ยังไม่ได้เช็คข้อมูลว่ามีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ที่ทำให้หุ้นร่วงขนาดนี้ เพราะยืนยันได้เลยว่า ตัวของหมอเสธ.หรือ IN GLORY ไม่มีการนำหุ้นไปจำนำ เพื่อนำเงินออกมาใช้ ทำให้ในส่วนของการถูก Forced sell เป็นไปไม่ได้เลย"
ส่วนการทำรายการ Big Lot ครั้งนี้ ตั้งไว้ไม่เกิน 5% และจะไม่มีการทำรายการดังกล่าวแล้ว พร้อมยืนยันการขายหุ้นในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหาร หรือโครงสร้างผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/67 บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนต่างประเทศ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 12%
สำหรับการดำเนินธุรกิจ ผลประกอบการไตรมาส 4/67 ของบริษัทยังมีการเติบโตทั้งจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์หลายสำนัก ขณะที่ในส่วนของพาร์ทเนอร์ ผลประกอบการยังเติบโตในระดับที่ดีเช่นกัน
ส่วนทิศทางธุรกิจในปี 2568 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้น 20% โดยเฉพาะการขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนของตลาดต่างประเทศเป็น 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 27% ผ่านการรุกตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย และกลุ่ม CLMV เพื่อทดแทนตลาดในประเทศที่เศรษฐกิจยังเติบโตในระดับต่ำ และลูกค้าต่างประเทศจะทำให้กำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นด้วย
"MASTER มีการเติบโตที่โดดเด่นจากลูกค้าทั้งในและต่างชาติ เป็นที่ยอมรับว่า MASTER ครองตำแหน่งผู้นำด้านธุรกิจศัลยกรรมความงาม ให้บริการครอบคลุมหัตถการยอดนิยม จุดเด่นคือ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงามที่มีประสบการณ์ พร้อมให้บริการลูกค้า ตั้งแต่หัตถการศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมยกคิ้ว ศัลยกรรมปรับโครงหน้า ดูดไขมัน การดูแลสุขภาพชาย การดูแลผิวพรรณ และการปลูกผม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกกลุ่ม" นางสาวลภัสรดา กล่าว
ด้านนายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ในนามโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช ผู้นำอันดับต้นของอุตสาหกรรมด้านความงามในไทยและเอเชีย ในฐานะ Regional Company เปิดเผยว่า ได้ถือหุ้น MASTER ในนามของตนเอง และบริษัท In Glory Investments Limited ที่ถือหุ้นอยู่ 100%โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 179.11 ล้านหุ้น คิดเป็น 59.37% ซึ่งภายหลังการขายบิ๊กล็อตจำนวน 11.37 ล้านหุ้น ยังคงเหลือ 167.74 ล้านหุ้น คิดเป็น 55.59% โดยขายให้กับกองทุนต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่ม free float หลังจากหุ้น MASTER ย้ายเข้ามาเข้าซื้อขายใน SET และยืนยันว่า ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 โดยที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทยังคงแข็งแกร่งและไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้
"การขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่ากระดาน เนื่องด้วยตอนที่ MASTER เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีราคา IPO ที่ 47 บาท มีการ dilute หุ้นจำนวน 2 รอบ ส่งผลให้ราคา IPO ลงมาอยู่ที่ 36 บาท ทำให้ราคาที่ขายบิ๊กล็อตครั้งนี้ที่ 37 บาท ถือว่าไม่ได้ต่ำกว่าราคา IPO ส่วนหุ้นที่วางจำนำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมาร์จิ้นคิดเป็นสัดส่วน 9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เทียบเท่าราว 27 ล้านหุ้น ไม่ใช่มาจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MASTER เพราะโดยส่วนตัวไม่ได้นำหุ้นไปวางจำนำ และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจากการขายหุ้น ยืนยันว่าไม่ทราบว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายใดไปวางไว้" นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว
***********************