Fintech
จากเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที และส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง นำไปสู่คำถามต่อว่า นโยบายของรัฐบาลเศรษฐาจะสะดุดหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการเงินดิจิทัล
วอลเล็ต 10,000 บาท รวมถึงภาพรวมสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นอย่างไรต่อไป รัฐบาลชุดใหม่จะผลักดันหรือไม่
ขณะที่นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทย บิทแคสต์ จํากัด ได้ให้ความคิดเห็นว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลใหม่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยมี คุณแพรทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 แต่ก็ดูเหมือนว่า ลึกๆ แล้วการดำเนินนโยบายโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ดูจะตอบได้ไม่เต็มปากว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ มีแต่เพียงคำตอบว่า ให้รอรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลใหม่จริงๆ แล้วก็เป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเดิม ซึ่งเป็นเจ้าของนโยบาย ทำให้หลายคนงงว่าคำตอบไม่ได้
ส่วนตัวแล้วมองว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเดิมพันที่สูงมาก และมีอุปสรรคที่สูงมากเช่นกัน ยังไงพรรคเพื่อไทยคงผลักดันนโยบายนี้ แต่รูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงและคดีที่อาจเกิดขึ้นได้กับนายกรัฐมนตรีในอนาคต
สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่มีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จริงๆ ต้องนับได้ว่าเป็นความฉลาดของคนที่คิดนโยบายนี้ที่ตั้งใจจะเสกคูปองในอากาศมากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ใช้ต้นทุนทางการเงินที่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะมีปัญหาเรื่องการขัดกับนโยบายทางการเงินการคลัง และส่วนสำคัญคือ ติดในเรื่องของความรู้ความเข้าใจของประชาชนผู้ใช้งานดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้อาจได้ไม่คุ้มกับเสีย ส่งผลต่องบประมาณการเงินของประเทศ ที่อยู่ในสภาวะขาดดุลสูงอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อการคลังของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอาจต้องมีการหารือกันใหม่อีกครั้ง จึงมองว่า ดิจิทัลวอลเล็ตมีแนวโน้มที่จะไม่ได้ไปต่อ หรือถ้าดันทุรังยังไปต่อคงต้องหาแนวทางใหม่
ส่วนการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลชุดใหม่นี้ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่นั้น มองว่าภาพรวมอุตสาหกรรมในวันนี้แข็งแรงมากขึ้น จากการยอมรับในวงที่กว้างขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลไทยออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่ก็จะสานต่อนโยบายดังกล่าว เพื่อผลักดันให้สินทรัพย์ดิจิทัลเข้าสู่การใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทย (Mass Adoption) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายกเศรษฐา ทวีสินนั้น ไม่ได้มองสินทรัพย์ดิจิทัลในทางลบ แต่มองในทางบวกหรือไม่นั้น ยังบอกไม่ได้
สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ แค่ภาครัฐไม่มองแต่ทางลบก็สามารถเติบโตได้แล้ว หวังว่านายกคนใหม่จะมีมุมมองที่ทันยุค ทันสมัย ไม่มองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว และเป็นเรื่องที่ต้องกีดกัน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย แต่การจะบรรลุเป้าหมายในการใช้งานอย่างแพร่หลายนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และยกระดับมาตรฐานของการพัฒนาอุตสหกรรมนี้ให้อยู่ในแนวหน้าของโลก