หุ้น NER ปัจจัยบวกรุมเร้ารอบด้าน
หุ้น NER บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม ปริมาณการซื้อขายแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างหนาแน่น ด้วยเพราะบริษัทมีปัจจัยบวกที่โดดเด่นเข้ามามากมาย จากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น
ล่าสุด NER ทุ่มงบลงทุนปีนี้เพิ่มเป็น 1,400 ล้านบาท เดินหน้าสร้างโรงงานแห่งที่ 3 โดยการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จปลายปี 2567 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2568
ภายหลังจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว บริษัทจะมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 818,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 515,600 ตัน เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันบริษัทมีการขายให้กับลูกค้าไปถึงไตรมาสที่ 2/67 แล้ว
นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าใหม่เข้ามาเจรจาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยายการลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตยางล้อที่มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตตามมาด้วย ทำให้สนับสนุนความต้องการการใช้ยางในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทซึ่งเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์หลัก เพราะเดิมมีการส่งออกวัตถุดิบไปยังโรงงานผลิตล้อยางรถยนต์ของประเทศจีนอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ราคายางพาราเริ่มมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด จากภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มขยายตัวหนุนความต้องการใช้ยางในภาคก่อสร้าง ซึ่งบริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อ NER ทั้งสิ้น
ขณะที่นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า คาดว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่ดีของ NER จากมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาเพิ่มและราคายางที่จะปรับตัวได้สูงขึ้นกว่าปีก่อน ราคาเฉลี่ยปีก่อนอยู่ที่ 47 บาท/กก. ซึ่งปัจจุบันราคายางอยู่ที่ 70 บาท/กก. ผลจากจากความกังวลในเรื่องของความขัดแย้งในปีนี้ จะกลับมาเป็นประโยชน์สำหรับ NER ต่อด้านราคาและปริมาณขาย
ทั้งนี้ คาดการณ์ปี 2567 ตั้งเป้าปริมาณขาย 5.1 แสนตัน ซึ่งปัจจุบันขายล่วงหน้าแล้วไปกว่า 2 แสนตัน ประมาณการยอดขาย 2.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน จากการที่มีลูกค้ารายใหม่เข้ามาเพิ่ม และราคายางที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน ด้วยความกังวลจากความขัดแย้งใน red sea และซัพพลายที่คาดว่าจะลดลงในปีนี้ จากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมองว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ทำให้ดีมานด์ยางยังไม่กลับมาอย่างเต็มที่ หากเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้จะทำให้ความต้องการยางเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในอนาคต
ขณะที่ความขัดแย้งใน red sea ทำให้ผู้ขายสินค้าไปยังยุโรปจำเป็นต้องเริ่มกักตุนวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ปัจจุบันลูกค้ามีผลกระทบจากใช้ระยะเวลาการเดินเรือที่นานขึ้น ซึ่งจีนส่งออกรถ EV มากสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และตลาดที่สำคัญคือยุโรปที่ต้องการผลักดันเรื่องการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจีนเป็นลูกค้าหลักของ NER มีสัดส่วนกว่า 65% ของรายได้ ที่ผ่านมาลูกค้าจีนจะเก็บสต๊อกยางราว 1-2 เดือน แต่ปัจจุบันมีการเก็บสต๊อกยางเพิ่มถึง 3-4 เดือน ทำให้ธุรกิจต้นน้ำอย่าง NER ที่มีลูกค้าที่ส่งสินค้าไปยังยุโรปได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ และหากมองในมุมของ NER เองถือว่ากระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากเส้นทางการจัดส่งสินค้ายังอยู่ในเอเชียเป็นหลัก อาทิ จีน ไทย อินเดีย และญี่ปุ่น
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในหุ้น NER ทางฝ่ายประเมินราคาหุ้น โดยใช้ P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี ปรับเพิ่มเป็น 6.5 เท่า โดยปรับคาดการณ์รายได้เพิ่มตามประมาณการของผู้บริหารและราคายางในปัจจุบันที่ปรับตัวขึ้น ปรับกำไรปี 2567 เพิ่มขึ้นอีก 3.4% ปรับราคาพื้นฐานปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็นหุ้นละ 6.15 บาท คงคำแนะนำ "ซื้อ"
ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มผลประกอบการของ NER โดยบริษัทประกาศเพิ่มกำลังการผลิตอีก 59% มีแผนให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ใช้เงินลงทุน 1.2 พันล้านบาท จากกระแสเงินสดในบริษัททั้งหมด อีกทั้งบริษัทได้ลูกค้ารายใหญ่ในญี่ปุ่นมาเพิ่ม คาดเริ่มเห็นออเดอร์ตั้งแต่ไตรมาส 2/67 เป็นต้นไป และคาดว่าจะมีรายใหม่เพิ่มตามมา โดยปรับประมาณการกำไรปกติปี 2567 เพิ่มขึ้น 9% จากการปรับเพิ่ม GPM และปรับดอกเบี้ยจ่ายลง
ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น NER ปัจจุบันซื้อขายที่ P/E ปี 2567 ต่ำเพียง 4.8 เท่า ได้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็นหุ้นละ 6.90 บาท คาดเงินปันผลต่อหุ้นในงวดครึ่งหลังปี่ 2566 ที่ 0.29 บาท ให้ผลตอบแทน 6.3% จึงยังคงคำแนะนำ "ซื้อ"
***********
โบรกฯ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย
บล.หยวนต้า ซื้อ 6.90 บ.
บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ซื้อ 6.30 บ.
บล.ฟิลลิป ซื้อ 6.15 บ.
บล.บัวหลวง ซื้อ 6.11 บ.
บล.ทรีนีตี้ ซื้อ 6.03 บ.
**********************